ยิ่งอายุมากขึ้น ทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับวันเกิดของตัวเองน้อยลง?

ฟังดูหัวข้อเหมือนปลงอะไรสักอย่าง แต่เปล่าเลย มันเป็นเรื่องที่รู้สึกมาตั้งแต่ช่วงอายุ 28–29 ปีเป็นต้นมาว่า ทำไมยิ่งเราอายุมากขึ้น ทำไมถึงให้ความสำคัญกับวันเกิดของเราน้อยลง ยิ่งเปรียบเทียบกับช่วงวัยรุ่น ก็ยิ่งรู้สึกเลยว่า วันเกิด มันก็แค่อีกวันหนึ่งที่ผ่านไป และผ่านไป…

1. อายุมากขึ้น ปัญหามากขึ้น

ย้อนกลับไปช่วงอายุ 15–19 ปี เป็นช่วงวัยรุ่น วัยเผ็ดมันส์ แต่ยังอยู่ในกรอบของคำว่า “เด็ก” จึงรู้สึกถึงการโหยหาความเป็น “ผู้ใหญ่” ในชีวิต เพราะมีอิสระมากกว่า มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น แต่เชื่อเถอะพอถึงอายุ 20 ปลาย ๆ เรามักจะโหยหาความเป็น “เด็ก” มากขึ้น เพราะการเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริงแล้ว จะต้องเจอปัญหาอะไรมากมาย เช่น ภาระ เงินทอง สังคม ความกดดันทั้งชีวิต การงาน การเมืองในที่ทำงาน และอีกปัจจัยเข้ามารุมเร้าในชีวิต จนรู้สึกว่าไม่อยากให้ถึงวันเกิดไวๆ เพราะยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร ก็จะต้องตัดสินใจ และแก้ปัญหาที่มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ถึงแบบนั้น ใช่ว่าปัญหาของวัยรุ่นไม่มีนะ เราเชื่อว่าไม่ว่าจะวัยใด ปัญหามันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย มากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับบุคคล

หลายคนถึงบอกว่า อยากกลับไปเป็นเด็ก เจ็บสุดก็แค่หกล้ม

2. ให้ความสำคัญกับวันอย่างอื่นมากกว่า

โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัว มีลูกแล้ว แทนที่จะนึกถึงวันเกิดของตัวเอง และฉลองวันเกิดให้ตัวเองแบบยิ่งใหญ่ จะถูกแทนที่ด้วยการฉลองวันครบรอบ วันเกิดลูก และวันอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อครอบครัวมากกว่าตัวเอง…

โดยเฉพาะคนที่สร้างครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ก็จะให้ความสำคัญกับลูกตัวเองก่อน

3. เพราะมันเป็นเหมือนการนับถอยหลังเวลาชีวิต

ย้อนกลับไปช่วงหลายปีก่อนที่จะเข้าสู่เลข 3 ยังพูดติดตลกกับเพื่อนว่า เฮ้ย! จะเลข 3 แล้วนะ เวลาผ่านไป…จนถึงช่วงเลข 3 กลาง ๆ กลับรู้สึกว่า เฮ้ย! ช้า ๆ ก็ได้ เพราะยิ่งอายุมากขึ้น เวลาที่เหลือบนโลกนี้ก็ยิ่งน้อยลง พลังงานในตัวน้อยลง อยากอยู่ในที่มั่นคงกว่าเดิม หรือแม้กระทั่งกลัวความตายที่จะเข้ามาเยือนได้ในทุกช่วงเวลา

เวลาในขวดแก้วยังหมุนไปมา นับประสาอะไรกับชีวิตที่ต้องหมุนต่อไป

เชื่อว่ายังมีอีกหลายปัจจัย ที่ทำให้วันเกิดมีความสำคัญน้อยลงในชีวิต แต่ทุกวันนี้ วันเกิดคือ มีคนอวยพร การกินข้าว แล้วจบไปอีก 1 วัน กับตัวเลขที่มากขึ้นอีก 1 ปีก็เท่านั้นเอง

Spread the love